เราจะสามารถทำให้ทุกคนในทีมเห็นเส้นทางการเดินทางของเราไปพร้อม ๆ กัน ได้อย่างไร?
Vision Map นี้ เป็นความพยายามครั้งแรกของพวกเราที่จะตอบโจทย์นี้
สำหรับผม(ปลื้ม) สิ่งที่ยากที่สุดของการทำงานเป็นทีมคือการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสารเรื่องที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ และที่ MakerStation เรามีภาระกิจใหญ่ ๆ มากมาย และโปรเจคหิน ๆ รอให้ทำอยู่เรื่อย ๆ มันยากมากที่ผมจะสื่อสารให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันตลอดเวลา ยิ่งถ้าทำด้วยปากเปล่ายิ่งยากเข้าไปใหญ่
แล้วถ้าเราอยากให้ทุกคนในทีมมีวิสัยทัศน์เดียวกันล่ะ? (วิสัย = ขอบเขต, ทัศน์ = การเห็น) เราจะทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้อย่างไร?
นั่นคือเหตุผลที่มนุษย์เราต้องรู้จักการออก”แบบ” หรือวาง”แผน” เพื่อเอาสิ่งที่อยู่ในหัวของเราออกมาเป็นภาพหรือสัญลักษณ์ให้ได้ ผมคิดเรื่องการเอาแผนที่อะไรสักอย่างแปะไว้บนผนังของ Space เรามาตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ที่ FabLab Bangkok แล้ว และนั้นคือที่มาของ Vision Map นั่นเอง
ไอเดียคือ อยากได้แผนที่เหมือนในเกม ที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมของสิ่งที่เราจะทำ ในขนะเดียวกัน เราจะใช้แผนที่นี้เพื่อวางแผนและ กำหนดเส้นทางการเดินทางและภาระกิจของเรา ผมเชื่อว่า ในบางครั้งเราต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ เช่น ทำงานที่น่าเบื่อ หรือดีลกับคนที่ยากจะดีลด้วย เพราะฉะนั้นการที่เราสามารถเห็นเส้นชัยร่วมกันจะทำให้เรามีความหวังและความตั้งใจในการฝ่าฟันอุปสรรค
Design Specifications
- เราต้องสามารถปรับเปลี่ยนแผนที่นี้ได้อย่างอิสระ เพราะเราต้องคอยปรับแผนของเราตามสิ่งที่เราค้นพบระหว่างทาง
- เราต้องการวิธีการทำเครื่องหมาย Check Point บนแผนที่ หรือ เป้าหมายต่าง ๆ ของเรา ให้ใช้งานง่าย เลื่อนไปมาได้
- เราต้องการแผนที่ที่เราขีดเขียนลงไปได้เลย ต้องลบได้ด้วยนะ
Design Concept
เราลอง brainstorm กันว่าเราจะใช้ท่า(วิธี)ไหน ในการทำสิ่งนี้ดีที่เราเคยใช้ ๆ กันมา ก็มี
- Cork Board : ให้ความรู้สึกแบบ Craft มาก สามารถปักสิ่งต่าง ๆ ติดลงไปได้ เลื่อนสิ่งที่ปักได้ เอาเชือกมาเชื่อมโยงแต่ละหมุดได้ แต่ต้องใช้คู่กับหมุดที่สามารถเป็นอันตรายได้ใน Space ที่วุ่นวายของเรา เขียนอะไรลงไปบนบอร์ดไม่ได้ และใช้ไปนาน ๆ แล้วรูพรุนขึ้นเรื่อย ๆ
- White Board : เขียนง่ายลบง่าย สามารถหาซื้อที่เป็นบอร์ดติดแม่เหล็กได้ด้วย (แต่แพงมาก) และหน้าตาที่ดูออฟฟิศสุด ๆ
- Post-it : ถึงแม้จะใช้ง่ายและหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่โพสอิทไม่เหมาะกับการแปะไว้นาน ๆ เท่าไรนัก และมันก็ดึงออกมาแปะซ้ำบ่อย ๆ ไม่ได้
THE BOARD
หลังจากที่เราสำรวจวัสดุที่เรามีอยู่ใน Space ของเราแล้ว เราค้นพบวัสดุที่น่าสนใจที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ วัสดุนั้นคือแผ่นเหล็กชุบสังกะสี (Galvanized Steel) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีหลายความหนาให้เลือกซื้อ ยิ่งหนาก็ยิ่งใช้แม่เหล็กดูดติดได้ดี แถมเรายังสามารถใช้ปากกาไวท์บอร์ดเขียนได้ และลบได้สะอาดอีกด้วย
เราเลยรีบรุดไปซื้อวัสดุที่จำเป็นสำหรับโปรเจคนี้มาทันที อันได้แก่
- ไม้อัดแกรด BB หนา 15 มม. สำหรับใช้เป็นโครงสร้างพื้นหลัง
- เหล็กชุบสังกะสี แบบหนาที่สุดที่เราหาซื้อได้
- สกรูสำหรับไม้
กำแพงที่เราจะติดตั้ง Vision Map นี้ สั้นกว่าความยาวไม้อัดเล็กน้อย เราจึงเริ่มจากการตัดไม้และเหล็กให้ได้ขนาดก่อน ทั้งสองวัสดุมีขนาดมาตรฐานคือ 4×8 ฟุต หรือประมาณ 1220 x 2440 มม. แต่แผ่นเหล็กจะกว้างกว่าเล็กน้อย
ความจริงถ้าอยากให้ได้แผ่นเหล็กที่เรียบแบบสุด ๆ เราควรใช้กาวยางในการติดเหล็กกับไม้เข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากผมอยากจะลองใช้วิธีไปสักพักเพื่อดูว่าว่าเราจะใช้งานมันให้ได้เกิดประโยชน์จริง ๆ หรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มทำให้มันถาวร
ผมเลยใช้แค่สกรูยึดแผ่นเหล็กเข้ากับไม้ตามขอบบนและล่างเท่านั้น
ช่วยกันยก ชื้นชมผลงาน
หลังจากนั้นพวกเราก็ช่วยกันยกมันขึ้นไปวางบนโต๊ะและพิงกับผนังไว้ ตรงนี้ก็เช่นกัน เรายังไม่เจาะรูบนผนังแล้วยึดมันถาวร เผื่อเราอยากจะเปลี่ยนที่ตั้งของมัน
THE MAGNETIC FRAME
เราพยายามหาวิธีที่เราจะสามารถเขียนโปรเจคของเราในอนาคตแล้วยังสามารถเลื่อนตำแหน่ง ของโปรเจคไปมาได้ตามความสัมพันธ์ของแต่ละโปรเจค หลังจากทดลองมาหลายวิธี เราคิดว่า วิธีที่น่าจะยั่งยืนที่สุด คือการทำกรอบที่เราสามารถใส่กระดาษลงไปได้ และเราสามารถเลื่อนกรอบเหล่านี้ได้ง่าย ถ้าโปรเจคไหนเสร็จแล้ว เราก็เปลี่ยนกระดาษแล้วใช้กรอบเดียวกันกับโปรเจคใหม่ ๆ ได้
เราออกแบบกรอบเพื่อให้เราสามารถสร้างมันขึ้นมาด้วย 3D Printer ได้แต่ด้วยข้อจำกัดของการพิมพ์ 3 มิติแล้ว มันง่ายกว่าที่เราจะพิมพ์กรอบเป็นสองชิ้นแล้วนำสองชิ้นมาติดกันทีหลัง
สุดท้ายก็ทากาวลงในช่องแม่เหล็กด้านหลัง ก่อนอัดแม่เหล็กเข้าไป เป็นอันใช้ได้
ข้อดี ของวิธีนี้อย่างที่บอก คือเราสามารถเลื่อนแต่ละโปรเจคได้อย่างอิสระ ทำให้เราสร้างเส้นทางการเดินทางที่ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสิ่งที่เราค้นพบระหว่างทาง นอกจากนั้น เรายังใช้ปากกาไวท์บอร์ดเขียนลงไปบนเหล็กชุบสังกะสีได้เลยอีกด้วย (ลบออกได้)
แต่ ข้อเสีย ก็มีอยู่เหมือนกัน คือเหล็กชุบสังกะสีมีสีออกเงินๆ สะท้อนแสง ทำให้บางมุมมองเห็นตัวหนังสือที่เขียนยาก และอีกข้อ (ที่จริง ๆ แล้วน่าจะเลี่ยงได้ แต่ด้วยความอยาก On Brand เลยยอม) คือ เนื่องจากกรอบเราเป็นรูปหกเหลี่ยม (ตามโลโก้ทีม) เราจึงต้องตัดหรือพับกระดาษที่จะใส่ในกรอบให้พอดี ซึ่งเสียเวลาอยู่เหมือนกัน และเป็นการใช้ทรัพยากรได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก แต่สุดท้ายรูปหกเหลี่ยมก็ทำให้เราจัดเรียงแผนที่ได้น่าสนใจขึ้น และเราก็ไม่ได้เปลี่ยนกระดาษบ่อยขนาดนั้น เหล่านี้จึงเป็นข้อเสียที่ยังรับได้เมื่อเทียบกับข้อดี
สุดท้ายเราต้องการบางอย่างที่เป็นป้ายชื่อของ Vision Map และในขณะที่ผมหันไปทำโปรเจคอื่นเพียงไม่ถึงครึ่งวัน หันกลับมาอีกทีหมวยก็ทำป้ายชื่อให้แผนที่ของเราเรียบร้อยแล้ว มันน่าเหลือเชื่อที่เรามีเศษวัสดุมากมายที่สามารถเอามาทำป้ายนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ
และนี่คือโฉมหน้าล่าสุดของ Vision Map ของเรา แน่นอนพอใช้ ๆ ไปมันก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปเรื่อย ๆ แต่ที่สำคัญคือตอนนี้ทีมเรามีแผนที่ที่เราสามารถวางแผนเส้นทางร่วมกัน และเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังมีโปรเจคอะไรมัน ๆ รอเราอยู่ข้างหน้า
สุดท้ายหวังว่าไอเดียนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ นะครับ ใครชอบก็เอาไปทำตามได้เลย ไม่หวงครับ แต่ถ้าจะให้ดีถ้าเอาไปทำแล้วได้ประโยชน์จริง ๆ อย่าลืมกลับมาเล่าให้เราฟังนะครับ จะทาง Facebook หรือ Line ได้หมดเลย หรือติดตามเรื่องราวของ MakerStation ตามช่องทางต่าง ๆ ด้านล่างเลยครับ
Credit : รูปที่เราไม่ได้ถ่ายเอง เอามาจาก unsplash
Industrial Designer / Maker
The “Master Maker”
“เราเลือกได้เสมอ
ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
หรือเป็นส่วนหนึงของทางแก้”
Sculptor, Artist,
Researcher, Designer, Maker
“I put my heart and soul into my work,
and I have lost my mind in the process.”