5 ปัจจัยหลักสำหรับการเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ 3D Printer

เคยไหมครับ เวลาพิมพ์คำว่า 3D Printer หรือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ใน Google แล้วมันขึ้นมาให้เลือกกันเต็มไปหมด มีตั้งแต่ราคาหลักพัน จนถึงหลักแสน เห็นแล้วเลือกไม่ถูก แถมหน้าตาเครื่องบางรุ่นก็ดูเหมือนของเล่น ไม่รู้ว่าซื้อมาแล้วมันจะใช้ได้ไหม

สำหรับบทความนี้ผมจะมาบอกวิธีการเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติประเภท FDM (ฉีดพลาสติก) ว่าจะเลือกแบบไหนดี แบบไหนควรซื้อ แบบไหนไม่ควรซื้อ รวมไปถึงปัจจัยที่สำคัญที่ผู้ใช้ต้องตั้งคำถามและต้องตอบให้ได้ก่อน เพื่อที่จะได้เครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่เหมาะก้บเรามากที่สุด สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีกี่แบบ กี่ประเภท ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความที่นี่ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น กับบทความ 3D Printer คืออะไรและมีกี่ประเภท

ก่อนที่จะเข้าไปที่ปัจจัยในการเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ 3D Printer ผมต้องบอกก่อนว่า

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในประเทศเราเป็นสินค้าควบคุมนะครับ จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาติ กับกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ และต้องทำรายงานการครอบครองทุกๆ 6 เดือน

เครื่องปริ้น 3 มิติ ไม่สามารถนำเข้ามาได้ ถ้าไม่มีใบอณุญาติ ถ้าเข้ามาแล้ว จะติดที่ศุลกากร ต้องไปทำเรื่องขอใบอนุญาติ และโดนค่าปรับนะครับ แต่ถ้าซื้อกับบริษัทหรือตัวแทนจำหน่าย ตรงนี้ไม่เป็นไร เพราะเขาจะดำเนินการแทนคุณเรียบร้อย ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องทำรายงาน

สำหรับใครที่อยากนำเข้าเอง ก็สามารถเข้าไปอ่านวิธีได้ที่ LINK นี้เลยครับ มีคนเคยวิธีการมาแล้ว ถามว่ายากไหม มันไม่ยากครับ แต่มันเสียเวลา และก็ต้องทำรายงานทุกๆ 6 เดือน รวมไปถึงต้องขอทุกครั้งที่มีการนำเข้าก็แค่นั้นเอง ผมมีข้อเตือนอีกอย่าง เพราะอันนี้โดนค่าปรับมาแล้ว นั่นก็คือก่อนการนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติแล้ว จะต้องไปทำเรื่องขอนำเข้า พอได้ใบอนุญาติแล้ว ต้องรอ 15 วัน ก่อนที่จะนำเข้าเครื่องมาที่ไทย ถ้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาถึงเมืองไทยก่อน 15 วันหลังจากทำใบอนุญาติ จะต้องเสียค่าปรับ อันนี้ผมเตือนเอาไว้ก่อน

ส่วนเรื่องหลักการและวิธีการในการนำเข้า สามารถอ่านได้จาก LINK นี้ ซึ่งเป็นประกาศแบบทางการจากกรมการค้าต่างประเทศ

แต่ถ้าขี้เกียจอ่าน ก็ลองดูวิดีโอด้านล่างนี้ได้ น่าจะช่วยในเรื่องของขั้นตอนการนำเข้า 3D Printer

ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกว่ามันดูยุ่งยาก ก็ซื้อเครื่องกับตัวแทนจำหน่าย ในไทยก็ได้ เพราะเขาจะดำเนินการเรื่องพวกนี้แทนคุณทุกอย่าง แถมคุณก็ไม่ต้องมานั่งทำรายงานด้วย รวมไปถึงได้รับการบริการหลังการขาย และความรู้ในการใช้เครื่องอีกด้วย

ส่วนใครมองว่า ทำไมต้องมีกฎหมายแบบนี้ออกมาด้วย ตัวเครื่องมันน่าจะเอาเข้ามาง่ายๆให้คนใช้ได้เยอะๆ ซึ่งตรงนี้ ผมเคยได้คำตอบมาว่า ที่ต้องควบคุม เพราะว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ น้ันสามารถนำมาพิมพ์เป็นอาวุธหรือปืน ถ้าใครยังไม่รู้ ลองอ่าน LINK นี้ที่ผมเขียนเอาไว้ เกี่ยวกับอาวุธที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

หลายคนๆ อาจคิดว่า ไม่จำเป็นต้องเครื่องพิมพ์ 3 มิติก็ได้ ที่สร้างปืน แค่เครื่องกลีง หรือเครื่องจักรธรรมดา ก็ทำได้ อันนี้ต้องบอกว่าใช่ครับ เมื่อก่อนผมก็มีความคิดแบบนี้ ทำไมต้องมาควบคุมด้วย ซึ่งพอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พอจะสรุปได้ว่า

การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นไม่จำเป็นต้องมีทักษะเยอะ ไม่เหมือนพวกเครื่องจักรใหญ่ ที่ต้องเรียนรู้ และต้องอาศัยทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่อง ซึ่งแตกต่าง จากเครื่องปริ้น 3D Printer มาก แค่มีไฟล์โมเดล 3 มิติ ก็สามารถสั่งให้เครื่อง พิมพ์ขึ้นมาได้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าสอนเด็ก เด็กก็สามารถใช้งานได้

หลังจากได้รู้หลักการและเรื่องราวเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติกันแล้ว บางคนอาจจะเปลี่ยนใจ ไม่ไปซื้อเองแล้ว จะสั่งกับคนที่ขายในประเทศ ก็ต้องมารู้ก่อนว่าจะเลือกเครื่องปริ้นแบบไหน ทางผมก็ได้สรุปออกมาเป็น 5 ปัจจัยหรือคำถามที่ต้องตอบ พออ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะมีข้อมูลมากพอ ในการตัดสินใจซื้อเครื่องได้แน่นอน

งานที่จะเอามาพิมพ์เป็นงานแบบไหน ?

ปัจจัยแรกคือ ที่จะต้องหาคำตอบก่อนคือ งานที่จะเอามาปริ้น 3 มิติ เป็นงานแบบไหน เป็นงานศิลปะ หรืองานประเภทชิ้นส่วน อะไหล่ เครื่องจักร หรืองานต้นแบบ  ที่ผมต้องถามเพราะว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้นมีให้เลือกหลายแบบ ซึ่งตอนนี้ที่เห็นกันเป็นส่วนใหญ่คือแบบ Cartesian กับแบบ Delta ซึ่งแต่ละแบบ ก็จะเหมาะกับงานคนละอย่างกัน

ถ้าเน้นงานศิลปะ เช่นรูปปั้น ของเล่น ตัวการ์ตูน ผมแนะนำให้ไปเอาเครื่องประเภท Delta เครื่องแบบนี้จะพิมพ์งานได้เร็วและได้ชิ้นงานที่สูง รวมถึงช่วงโค้งและช่วงเว้า จะพิมพ์ได้เนียนและสวยกว่าเครื่องพิมพ์ 3D Printer แบบ Cartesian

สำหรับข้อเสียของเครื่องประเภท Delta ก็คือ พิมพ์งานไม่ได้ขนาด ไม่เหมาะเอามาพิมพ์ชิ้นงานที่ต้องการวัดเอาตัวเลข หรืองานวิศวกรรม ที่ต้องเอามาสวมประกอบ สาเหตุที่เครื่องพิมพ์ประเภท Delta พิมพ์งานไม่ได้ขนาด เป็นเพราะว่า การเคลื่อนที่ของหัวฉีด นั้นจะถูกควบคุมด้วยแขนที่ผูกติดกับมอเตอร์ ซึ่งการเคลื่อนที่ในแต่ละครั้ง มอเตอร์ทั้ง 3 ตัวจะมีการขยับไปพร้อมกัน ซึ่งตรงนี้ ถ้าแขนของเครื่องพิมพ์ด้านใดด้านนึง ตั้งค่าความตึงของสายพานไม่เท่ากัน จะทำให้การเคลื่อนที่ผิดเพี้ยนไป ซึ่งจะไปกระทบต่อขนาดของชิ้นงานที่พิมพ์ ยิ่งขนาดชิ้นงานพิมพ์ยิ่งใหญ่ ขนาดจะยิ่งเพี้ยนไม่ตรงกับที่วาดแบบเอาไว้

3D printer

ซึ่งถ้าเป็นงานพิมพ์ที่ต้องเอาไปสวมหรือประกอบกับชิ้นงานอื่นๆ ก็จะไม่พอดี ดังนั้น ถ้าผู้ใช้จะเอาเครื่องพิมพ์ไปพิมพ์ชิ้นงานประเภท ที่ต้องมีการวัด หรืองานที่เอาขนาด ก็ให้หลีกเลี่ยงเครื่องประเภท Delta แต่ถ้าเป็นงานศิลปะ หรืองานที่ไม่ต้องเอาไม้บรรทัดมาวัดชิ้นงานที่พิมพ์ อันนี้ผมแนะนำเลย เพราะเครื่องสไตล์นี้ พิมพ์เร็วมาก งานสวย รวมถึงดูแลและซ่อมบำรุงรักษาง่าย แถมดูเพลินเวลาเครื่องมันทำงาน

สำหรับงานพิมพ์ที่เอาค่าหรือเอาขนาด ก็ต้องไปเครื่องแบบ Cartesian เพราะเครื่องแบบนี้ การเคลื่อนที่จะเป็นไปตามแกน งานที่ได้จากเครื่องประเภทนี้ จะมีขนาดที่แม่นยำกว่าเครื่อง Delta ส่วนเครื่อง Cartesian ที่เป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ ก็จะเป็นเครื่องพิมพ์ของ Josef Prusa ซึ่งเป็นเครื่องที่พิมพ์งานได้เร็ว และมีฟีเจอร์ให้มาครบ เช่น ไฟดับพิมพ์ต่อได้ หรือว่าเส้นพลาสติกหมดกลางทาง เครื่องก็จะหยุด และรอให้คนมาเปลี่ยน ใครสนใจก็ไปอ่านรีวิวได้นะครับ

ส่วนใครอ่านรีวิวแล้วยังไม่ชอบ ก็จะมีอีกรุ่นเป็นของประเทศ เกาหลี แบรนด์ Sindoh รุ่น 3DWOX1 ตัวนี้ก็เป็นเครื่องแบบ Cartesian ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม มองผ่านๆ จะคล้ายๆกับเครื่องถ่ายเอกสาร เหมาะสำหรับตั้งไว้ในบ้านหรือ Office เพราะมีกรอง HEPA สำหรับกรองกลิ่นและฝุ่น ที่เกินจากการพิมพ์งาน

พื้นที่พิมพ์งานจะเอาเท่าไหนดี ?

สำหรับปัจจัยนี้ จะเป็นตัวกำหนดขนาดเครื่อง และก็ราคาเครื่อง เครื่องที่พิมพ์ได้ใหญ่ราคาก็จะสูง ซึ่งตรงนี้ผู้ที่จะซื้อต้องดูงบประมาณในการซื้อด้วย ไม่ใช่ว่า จะเอาใหญ่อย่างเดียว สำหรับการกำหนดพื้นทื่พิมพ์งานนั้น ผมแนะนำว่าถ้าต้องการเครื่องที่มีขนาดพิมพ์เกิน 30 x 30 x 30 เซนติเมตรขึ้นไป ให้หาเครื่องที่มีระบบช่วยเหลือในการพิมพ์ ถ้าเกิดปัญหาระหว่างพิมพ์

อันนี้ต้องอย่าลืมว่า งานพิมพ์ยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องใช้เวลาพิมพ์นานขึ้น ซึ่งการพิมพ์งานในที่นี้ ผมหมายถึงพิมพ์กัน 5 วัน 5 คืนติดต่อกันโดยไม่หยุดพักเครื่อง ซึ่งเครื่องที่พิมพ์งานใหญ่ได้ ก็ควรที่จะใช้อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ดูแข็งแรง รวมไปถึงมีฟีเจอร์ จำพวก ไฟดับ สามารถพิมพ์ต่อจุดเดิมได้ หรือเส้นพลาสติกหมดระหว่างพิมพ์ ตัวเครื่องต้องหยุดโดยอัตโนมัติ เพื่อให้คนมาเปลี่ยนเส้นพลาสติก และไปพิมพ์ต่อที่เดิมได้ ซึ่งถ้าไม่มีฟีเจอร์พวกนี้ ให้ตัดออกไปเลย เพราะการพิมพ์งานใหญ่ ถ้าเกิดข้อผิดพลาด ก็จะทำให้เสียเวลา และเสียเส้นพลาสติกไปเปล่าๆ แถมเสียอารมณ์อีกด้วย

งานพิมพ์ยิ่งมีขนาดใหญ่ โอกาสที่งานพิมพ์เสีย ยิ่งมีมาก ไม่ใช่แค่เสียเวลาอย่างเดียว แต่มันจะทำให้เสียทั้งพลาสติก เงิน และกำลังใจที่จะใช้เครื่องไปด้วย

3D printer

สำหรับเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ ที่มีฟีเจอร์แบบด้านบน ผมแนะนำเป็นเครื่องพิมพ์ Raise3D Pro 2 ที่มีพื้นที่พิมพ์ขนาดใหญ่ และฟีเจอร์ไฟดับ พิมพ์ต่อ เส้นพลาสติกหมด ก็สามารถเปลี่ยนและกลับมาพิมพ์ต่อที่เดิมได้  แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ราคาอาจจะสูงไป งบไม่ถึง

อันนี้ผมก็ต้องแนะนำว่า ถ้างานที่พิมพ์นั้น สามารถตัดเป็นส่วนๆ แล้วเอาต่อกันทีหลัง โดยใช้กาวได้ไหม ถ้ายอมได้ ก็สามารถลดพื้นที่การพิมพ์ลงมาได้ หรือถ้าผู้ใช้สามารถออกแบบระบบสวมต่อ และประกอบ หรือทำเป็นเดือยให้กับตัวโมเดลได้ ก็สามารถพิมพ์ชิ้นงานแบบใหญ่ๆได้ โดยใช้เครื่องปริ้น 3D ขนาดเล็กได้

พลาสติกหรือเส้น Filament ที่จะใช้พิมพ์เอาแบบไหน ?

ในส่วนของปัจจัยนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าชิ้นงานที่พิมพ์จากเครื่องปริ้น 3D จะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง สำหรับพลาสติกที่จะใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ จะขึ้นอยู่กับประเภทของหัวฉีดเป็นหลัก ซี่งตอนนี้ในตลาดจะมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบ FDM อยู่ 2 ประเภท คือพิมพ์พลาสติกทั่วๆไป เช่น PLA และ ABS กับเครื่องอีกประเภทที่ติดหัวฉีดที่สามารถพิมพ์พลาสติกวิศวกรรม อย่าง Nylon, PC, PP และพลาสติกแบบ Composite ที่ผสมพวกโลหะ และ คาร์บอนไฟเบอร์

พลาสติกแต่ละประเภทจะให้คุณสมบัติต่างกัน เช่น ถ้าเน้นพิมพ์งานที่เอาไปทดแทนชิ้นส่วนเครื่องจักรที่เสียหาย ก็ต้องเลือกเป็นพลาสติกจำพวก ไนลอนหรือ PC แต่ถ้าเอาไปพิมพ์งานเพื่อดูต้นแบบ เอาไปให้ลูกค้าดู เพื่ออธิบายหน้างาน ก็จะเป็นพวกพลาสติก PLA สำหรับใครที่อยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ การเลือกใช้พลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D printer ก็สามารถเข้าไปอ่านหาความรู้เพิ่มได้ที่นี่ 

3D printer
3D printer

สำหรับใครที่คิดว่าจะพิมพ์แต่เส้นพลาสติก PLA ก็จะได้เครื่องที่ราคาไม่สูงมาก เพราะพลาสติก PLA นั้นถือว่าเป็นพลาสติกที่พิมพ์ง่ายสุด ไม่หดตัว และถ้างานโมเดล 3 มิติ ที่จะพิมพ์ มีขนาดไม่ใหญ่เกินกว่า 12 x 12 เซนติเมตร ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฐานทำความร้อน ซึ่งราคาเครื่องพิมพ์ก็จะถูกลงไปอีก เช่นเครื่องพิมพ์ Flashforge Finder ซึ่งเป็นเครื่องที่ออกแบบมาพิมพ์พลาสติก PLA โดยเฉพาะ หรือว่าจะเอาเครื่องของ XYZ รุ่น Davinci Junior Pro ก็ได้ แต่ถ้างบสูงหน่อย ก็เอาเครื่อง Snapmaker Original 1.0 ที่เป็นเครื่องที่เปลี่ยนหัวพิมพ์ได้ ให้เป็นเครื่องยิงเลเซอร์และเครื่อง CNC ทั้ง 3 รุ่นเป็นเครื่องที่ราคาไม่แพง เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่อยากจะเริ่มต้นใช้งาน 3D Printer

แต่ถ้าจะเอาไปพิมพ์ชิ้นงานที่ต้องรับแรง หรือมีไปถูกสารเคมี และต้องเอาไปตากแดด ตากฝน อันนี้ก็ให้เลือกเครื่องพิมพ์ ที่ชุดหัวฉีดเป็นแบบ All Metal หรือทำด้วยโลหะทั้งหมด เพราะหัวฉีดแบบนี้ จะฉีดพลาสติกที่มีอุณหภูมิสูงได้ อย่างเช่นหัวฉีดของ E3D จากประเทศอังกฤษ สามารถทำอุณหภูมิหัวฉีดได้สูงถึง 295 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถพิมพ์พลาสติกได้หลายๆตัว เช่น PC, Nylon, PETG, PP, ABS, ASA, HIPS

3D printer

ถ้าเน้นพิมพ์พลาสติกเหล่านี้ จะต้องเลือกเครื่องที่มีฐานทำความร้อน และต้องทำความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นเครื่องที่มีฝาครอบ แบบปิดมิดชิดได้ ก็จะยิ่งดี เพราะพลาสติกวิศวกรรมเหล่านี้ จะมีการหดตัวสูงกว่า PLA ถ้าได้เครื่องที่มีฝาครอบ กันอากาศจากภายนอก ก็จะช่วยให้งานพิมพ์แข็งแรง และไม่หดหรือหลุดจากฐานขณะพิมพ์งาน

สร้างเองหรือซื้อแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้ ?

สำหรับปัจจัยนี้ จะเป็นอีกตัวที่กำหนดราคาของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งก่อนจะเข้าเรื่อง ผมขอถามคำถาม และลองตอบดูก่อน ซึ่งคำตอบจะเป็นตัวกำหนดว่า คุณควรจะสร้างเองหรือซื้อแบบสำเร็จ คำถามคือ คุณเคยจับและใช้พวกเครื่องมือจำพวก ไขควง ค้อน ประแจ หรือเปล่า? ถ้าเคยแปลว่าคุณมีโอกาสที่จะได้ซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติราคาไม่แพง ส่วนถ้าใครไม่เคย ผมขอแนะนำให้ซื้อเครื่องแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้ดีกว่า

3D printer

สำหรับการซื้อเครื่องแบบชุด KIT แบบเอามาประกอบเองนั้น ถ้าคุณไม่เคยใช้เครื่องมือที่ผมบอกด้านบน แปลว่าคุณอาจจะยังไม่มีทักษะของช่าง ซึ่งการประกอบเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น ต้องอาศัยการขันน็อต สกรู การวางอุปกรณ์ให้ตรง และได้แนว ทุกอย่างต้องตั้งฉากกัน ถ้าประกอบแบบขอไปที เตรียมเสียเงินอีกรอบ และอีกอย่าง ที่หลายคนชอบบอกว่า มันมีคู่มือ ก็ประกอบตามคู่มือก็ได้ อันนี้ผมต้องบอกว่า ในคู่มือเขาไม่ได้ลงรายละเอียดที่มันลึกมากขนาดนั้น การขันน็อต หรือสกรู บางครั้งก็ต้องมีลำดับในการขัน ไม่ใช่คู่มือบอกให้ขันตรงนี้ ก็ขันมันให้แน่น อย่างเดียว ไม่ได้ดูส่วนอื่นที่ต้องประกอบต่อ ทำให้บางครั้งต้องไปฝืนหรือดัน ให้ชิ้นที่ต้องประกอบต่อ มันเข้าที่  ซึ่งอาจทำให้ตัวโครงสร้าง มันบิดผิดรูป

สรุปเอาง่ายๆ ถ้าคุณคิดว่า คุณไม่ใช่ช่าง อันนี้ผมให้หลีกเลี่ยงเลย ซื้อแบบชุดสำเร็จดีกว่า เอาเวลาที่ต้องไปประกอบเครื่อง ไปหาดูวิดีโอที่เขาสอนการออกแบบโมเดล 3 มิติดีกว่า ถ้าเครื่องมีปัญหา ก็แค่โทรไปถามกับผู้ขาย หรือไม่ก็ยกไปให้เขาดู ไม่ต้องมานั่ง ทำเองให้ปวดหัว ราคาสูงหน่อย ก็ถือว่า

ซื้อความรู้และการบริการหลังการขายจะดีกว่า

3D printer
3D printer

แต่ถ้าคุณเป็นช่าง เคยซ่อมหรือสร้างสิ่งของเอง อันนี้ผมแนะนำ ซื้อแบบชุดประกอบเองก็ได้ เพราะราคาเครื่องจะไม่สูง แถมถ้าเครื่องมีปัญหา ก็สามารถซ่อมเองได้

เครื่องพิมพ์ No Name หรือเครื่องพิมพ์มีแบรนด์ ?

สรุปถ้าใครอ่านถึงตรงนี้ ผมว่าอย่างน้อยก็น่าจะทำให้ตัวเองมีคำตอบแล้ว ว่าจะซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบไหน ผมมีข้อคิดอีกอย่างก่อนที่จะตัดสินใจ สำหรับคนที่จะซื้อเครื่อง ต้องบอกไว้อย่างนึงเลยว่า เครื่องพิมพ์ 3D Printer นั้นไม่ว่าจะประกอบเอง หรือซื้อแบบสำเร็จรูปมียี่ห้อ

พอซื้อมาแล้วมันไม่จบนะครับ เพราะใช้ไปเรื่อยๆ คุณจะเจอปัญหาต่างๆเข้ามา เช่น หัวฉีดตัน, งานพิมพ์ไม่ติดฐานพิมพ์ หรือพิมพ์ไปแล้วงานออกมาไม่สวยเหมือนในรูปที่เพื่อนๆ หรือผู้จำหน่ายเครื่องเอามาโชว์

3D printer

ตรงนี้ผมอยากแนะนำว่า ก่อนจะซื้อเครื่อง ควรดูก่อนว่าเครื่องที่จะซื้อนั้น มันมีคนใช้อยู่เยอะหรือเปล่า เป็นเครื่องพิมพ์มีแบรนด์ หรือว่าเป็นเครื่องพิมพ์ที่ No Name อย่าเลือกเครื่องที่มีคนใช้น้อย เพราะเวลาเกิดปัญหา คุณจะไม่มีใครให้ปรึกษาหรือถาม ควรเลือกเครื่องที่มีคนใช้เยอะๆ นอกจากดูจำนวนคนใช้แล้ว ควรจะดูไปถึงผู้ขายเครื่องพิมพ์ 3 มิติด้วยว่า คนที่ขายมีประสบการณ์และ สามารถให้คำปรึกษาได้หรือเปล่า ตรงนี้อาจจะลองทดสอบด้วยการยิงคำถาม แล้วดูว่าคนขายตอบมาอย่างไร เช่น

  • เครื่อง Delta กับ Cartesian ต่างกันอย่างไร ตัวไหนดีกว่ากัน? (คำตอบอยู่ด้านบน)
  • พลาสติก PLA กับ ABS ต่างกันยังไง มีงานพิมพ์ที่ต้องตากแดด ควรใช้อันไหนดี
  • หัวฉีดของเครื่องเป็นแบบไหน? ใช่ All Metal หรือเปล่า และทำอุณหภูมิสูงสุดได้เท่าไหร่
  • ฐานพิมพ์ทำความร้อนได้เท่าไหร่
  • ตัวเครื่องมีระบบตั้งฐานแบบไหน อัตโนมัติ หรือปรับเอง

อันนี้เป็นคำถามที่ผมยกตัวอย่างแบบง่ายๆ เอาจริงๆ ก่อนจะซื้อเครื่อง ก็ควรหาอ่านรีวิวและข้อมูลใน Internet ก่อน แล้วค่อยไปคิดคำถามมา

3D printer
3D printer

สำหรับคนที่ต้องการความปลอดภัย ผมแนะนำให้ซื้อเครื่องที่มีใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ถ้าบ้านเรา ก็ ม.อ.ก แต่ถ้าเป็นเครื่องที่มาจากยุโรป ก็จะเป็น CE การที่มีใบรับรองนั้น ก็จะช่วยให้รู้ว่า ตัวเครื่องพิมพ์นั้นปลอดภัย ผ่านการทดสอบมาเรียบร้อยแล้ว ต้องอย่าลืมว่า การพิมพ์งานจากเครื่องปริ้น 3D นั้น บางครั้งอาจใช้เวลาหลายวัน ซึ่งก็จะทำให้เครื่องร้อน และอาจเป็นสาเหตุในการเกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้ ถ้าเลือกเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แบบ No Name อุปกรณ์ที่ใช้ ก็อาจจะเป็นเกรดที่ถูก ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้า ลัดวงจร และไฟไหม้ได้ การเลือกเครื่องที่ผ่านการรับรอง ก็จะช่วยให้อุ่นใจ เวลาพิมพ์งานนานๆ แบบข้ามวัน ข้ามคืน ในช่วงที่คนไม่อยู่

บทสรุปการเลือกซื้อเครื่องปริ้น 3D

สำหรับบทความนี้ ผมว่าน่าจะทำให้หลายๆคน ได้คำตอบ หรือว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่ต้องการจะซื้อเครื่องปริ้น 3D Printer ได้มีแนวทางในการหาข้อมูล และประกอบการตัดสินใจ การซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เอง ว่าจะเข้าใจในตัวเครื่องและปรับแต่งค่าต่างๆ

ต่อให้เป็นเครื่องราคาไม่กี่พัน แต่ถ้าผู้ใช้ สามารถเข้าใจหลักการของการพิมพ์ 3 มิติ ผมเชื่อว่า ไม่ว่าเครื่องหลักพันหรือหลักแสนก็สามารถทำให้งานพิมพ์ออกมาสวยได้

ข้อสำคัญที่ผมอยากจะเน้นและย้ำกับผู้อ่านคือ พยายามหาซื้อเครื่องที่มี Support หรือการบริการหลังการขาย เพราะว่าการใช้เครื่องพิมพ์ 3D printer ในเวลานี้ มันไม่ใช่ซื้อมาแล้วจบ เหมือนพวก ตู้เย็น หรือหม้อหุงข้าว แต่มันยังต้องมีเทคนิคและวิธีการใช้ ซึ่งมันจะไม่ตายตัว เพราะมันจะขึ้นอยู่กับโมเดล 3 มิติที่พิมพ์ ขนาดโมเดลตัวเดียวกัน แบบเดียวกัน แค่วางมุมที่พิมพ์ต่างกัน ยังให้ผลลัพธ์ในการพิมพ์ต่างกันเลย

ส่วนใครที่มีเงินทุนจำกัด แต่อยากจะได้เครื่องปริ้น 3D ในราคาไม่แพง และเอื้อมถึง ผมก็แนะนำให้ดูเครื่องที่มีคนใช้เยอะๆหน่อย จะได้มีแหล่งข้อมูลในการสอบถามปัญหาได้

และถ้าใครอยากนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติเอง ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า หลังจากนำเข้ามาแล้ว คุณยังต้องมีหน้าที่ส่งรายงานทุก 6 เดือนให้กับกรมการค้าต่างประเทศด้วยว่า เครื่องปริ้น 3 มิติ ที่คุณนำเข้ามานั้น ยังอยู่หรือขายออกไปแล้ว อันนี้เป็นกฎหมายนะครับ ต้องทำ ไม่ทำก็ถือว่าผิด อาจจะโดนเรียกไปตรวจสอบได้นะครับ

สุดท้ายนี้ถ้าใครอยากได้เครื่อง 3D Printer แล้วไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็มาติดต่อมาทาง MakerStation หุ้นส่วนของเราได้เลยครับ

เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 10.00 – 19.00 น.
แต่ถ้าจะให้ดี Line มาสอบถามก่อนเข้ามานะครับ

SiamRepRap
ร้านขาย 3D Printer
แห่งแรกในเมืองไทย

ถ้าชอบอย่าลืมกดแชร์
สงสัยหรือมีความเห็นอะไร พิมพ์ไว้ด้านล่างเลย

MAKER

Amm

Partnership & Community
Support The “Back Bone”

“งานและชีวิตมีเป้าหมายเดียวกัน
คือการสร้าง impact ที่ดีให้กับโลก
และเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน”

Share this

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest

เนื้อหาอื่นๆ

Precious Plastic

Precious Plastic : โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่เท่ที่สุดในโลก

Movement ของเหล่า maker ที่พัฒนาเครื่องรีไซเคิลพลาสติกที่สามารถใช้ในบ้านหรือชุมชนได้ แจกแบบกันฟรีๆเพื่อให้สร้างประกอบใช้เอง

Read More »

แสดงความคิดเห็น