ท่อ PVC กับงาน DIY

วันนี้เราจะมาเรียนรู้การนำท่อพีวีซีมาใช้(แบบผิดจุดประสงค์)กันครับ

PVC ย่อมาจาก Polyvinyl Chloride นับเป็นวัสดุที่เหมาะกับการเอามาทำงาน DIY มากๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า

  1. หาซื้อง่าย
  2. มีข้อต่อให้เลือกหลายแบบมาก ทำให้การทำงานกับท่อพีวีซีเหมือนกับการเล่นตัวต่อขนาดใหญ่
  3. พีวีซี เป็นวัสดุที่แข็งแรงพอจะเอามาทำเป็นชิ้นงานต่างๆได้ แต่อ่อนพอที่จะให้เราตัด ดัด และ เปลี่ยนแปลงเป็นรูปร่างที่เราต้องการด้วยความร้อนได้ง่าย
  4. มันมีรูตรงกลางให้เราใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแบบ (แม้จะไม่ตรงจุดประสงค์เท่าที่ควร)

แต่ท่อพีวีซีนั้นก็มีหลายสี หลายแบบ หลายมาตรฐาน แล้วมันต่างกันยังไงกันนะ?
เวลาหาข้อมูลในเนทเรื่องการเลือกใช้ท่อ PVC ก็จะมีหลายความคิดเห็นหลายข้อมูลให้งงไปหมด
วันนี้แหละครับ ผมจะมาไขข้อสงสัย(ของตัวผมเอง) ให้เพื่อนๆได้ฟังกัน

หลายๆคนแบ่งการใช้งานท่อ PVC ตามสี บางที่บอกว่า สีขาวเอาไว้เดินไฟ บางที่นั้นไซร้บอกว่าใช้เป็นท่อน้ำ
จริงๆแล้วไม่ผิดทั้งคู่ครับ เพราะมันมีท่อสีขาวสำหรับงานไฟฟ้าและก็มีท่อสีขาวสำหรับใช้เป็นท่อน้ำ
ถ้าเราอยากจะเข้าใจจริงๆว่า ท่อแต่ละสีถูกออกแบบสำหรับอะไร ต้องดูที่มาตรฐานในการผลิตครับเพราะว่ามาตรฐานในการผลิตจะเป็นตัววัดว่า ท่อนั้นๆมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมตามการใช้งานหรือไม่

เท่าที่ผมเคยเห็น ในประเทศไทยเราใช่มาตรฐานที่เกี่ยวกับท่ออยู่ 2 อย่าง คือ มอก. และ IEC

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า มอก.
(แค่รู้ว่า มอก. ย่อมาจากอะไร ผมก็ฉลาดขึ้นละ)
เราสามารถแบ่งท่อพีวีซีตาม มอก. ได้ดังนี้ครับ

  1. ท่อร้อยสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ (มอก. 216-2524) กำหนด เป็นท่อสีเหลืองอ่อน (Primerose)
    จุดเด่นของท่อประเภทนี้คือต้องไม่นำไฟฟ้า ทนอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ไม่ลามไฟและทนต่อแรงกระแทกจากภายนอกได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับการร้อยสายไฟฟ้า
  2. ท่อน้ำดื่ม (มอก. 17-2532) กำหนดเป็นท่อสีน้ำเงิน (Arctic Blue) แต่ในระยะหลังมีการผลิตออกมาเป็นสีขาวเช่นกัน เพื่อความสวยงามและทาสีทับได้ง่าย
    จุดเด่นของท่อประเภทนี้ คือมีความสามารถในการทนแรงดันน้ำได้ดี แต่ไม่ทนความร้อน โดยแบ่งมาตรฐานได้เป็นสามระดับชั้นคุณภาพคือ
    PVC  5 เป็นท่อน้ำที่บางที่สุด เหมาะกับการใช้ในกรณีที่น้ำในท่อไม่มีแรงดัน เช่น ท่อระบายน้ำ เป็นต้น
    PVC-8.5 และ PVC-13.5 เป็นท่อที่เหมาะกับการใช้งานที่น้ำภายในท่อมีแรงดัน โดยตัวเลขที่กำกับระบุถึงความสามารถในการรับแรงกดดันได้ของท่อ ตามตาราง ซึ่งในบ้านพักอาศัยขนาดเล็กโดยทั่วไป ใช้ PVC 8.5 ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

หากเพื่อนๆต้องการรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มอก. 17-2532 http://www2.rid.go.th/research/vijais/moa/fulltext/TIS17-2532.pdf

3. ท่อสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมและชลประทาน (มอก. 999-2533) กำหนดเป็นสีเทา

ท่อสีเทาเหมาะกับการนำมาใช้ในงานเกษตร หรืองานระบายน้ำทิ้ง ที่ไม่ต้องทนแรงดันอะไรมากนัก น้ำหนักเบา ไม่เหมาะกับการเดินแบบฝังดิน หากนำไปใช้กับงานด้านการเกษตรไม่จำเป็นต้องมี มอก. 999-2533 ก็ได้แต่ถ้าหากจะนำไปใช้กับการระบายน้ำจากระบบอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมี มอก. 999-2533

มาตรฐาน IEC หรือ International Electrotechnical Commission
เป็นมาตรฐานนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงท่อเดินสายไฟด้วย เราจึงใช้มาตรฐานนี้ในการเลือกใช่ท่อเช่นกัน

  1. ท่อร้อยสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ (IEC 61386) กำหนดเป็นท่อสีขาว
    มาตรฐาน IEC 61386 เป็นมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากมีจุดเด่นที่ความทนทานต่อสภาพอากาศ ไม่นำไฟฟ้า ทนอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ไม่ลามไฟและทนต่อแรงกระแทกจากภายนอกได้ดี ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ระหว่างท่อ มาตรฐาน IEC 61386 กับ มอก. 216-2524 คือเรื่องของขนาดของท่อที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะพูดในหัวข้อถัดๆไป

ทีนี้มาถึงเรื่องที่มันสำคัญกับเราชาว DIY จริงๆ

ในการนำท่อ PVC มาใช้กับงาน DIY นั้น เราอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติตามมาตรฐานมากนัก (แต่ก็อาจใช้ในบางกรณีจึงอยากบอกไว้) สิ่งที่เราต้องรู้จริงๆ เมื่อเรานำท่อ PVC มาใช้คือ

  1. สี เราต้องการใช้สีอะไร ถึงแม้ว่าท่อ PVC จะมีสีให้เลือกไม่มากนัก แต่หลายๆครั้ง สีขาวก็ดูดีกว่า สีฟ้าแจ๋นเป็นไหนๆ
  2. ขนาดของท่อพีวีซี ซึ่งมีสิ่งที่เราควรสนใจ ดังนี้
    • ความยาว
      ถ้าคุณซื้อท่อกับอาเฮียแถวบ้าน เค้าอาจจะยอมตัดท่อแบ่งขายให้คุณได้ แต่ถ้าคุณต้องไปซื้อตามโฮมเซ็นเตอร์ต่างๆแล้วล่ะก็ เค้าไม่ยอมแบ่งขายให้แน่นอนครับ เค้าตัดครึ่งให้ก็ดีแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ไว้ก็ดีครับว่า ท่อเส้นนึงยาวเท่าไหร่ เวลาให้เค้าตัดเป็นท่อนๆ จะได้รู้ว่า อยากได้ท่อนละเท่าไหร่ จะได้ไม่เหลือเศษท่อเยอะ
      โดยท่อในระบบ มอก. จะขายความยาวเส้นละ 4 เมตร ในขณะที่ท่อมาตรฐาน  IEC จะขายเส้นละ 2.92 เมตร (10 ฟุต)
    • เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (Outer Diameter/OD)
      จริงๆเวลาคุณซื้อท่อขนาดใดๆ คุณก็แค่ซื้อข้อต่อท่อที่เป็นของท่อขนาดนั้นๆได้เลย แต่ว่าบางครั้งถ้าเราจะเอาท่อมาดัดแปลง เราอาจจะอยากรู้ว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของมันขนาดเท่าไหร่ เพื่อซื้อดอกสว่านที่เจาะรูได้พอดีสอดท่อนั้นๆ หรือคุณอาจอยากเอาท่อPVC  มาต่อกับท่ออื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันเป็นต้น
      ซึ่งเรื่องเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของท่อนั้น ก็จะแบ่งตามมาตรฐานเช่นกัน
      • ท่อมาตรฐาน IEC กำหนดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก เป็นหน่วย มม. ตัวเลขขนาดที่พิมพ์บนท่อจะเท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก
      • ท่อมาตรฐาน มอก. กำหนดขนาดท่อเป็นนิ้ว แต่ขนาดท่อที่พิมพ์บนท่อนั้นจะไม่เท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก
    • ความหนา
      จะมีแค่ท่อน้ำเท่านั้นที่มีความหนาของผนังท่อไม่เท่ากันในแต่ละระดับชั้นคุณภาพครับ

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่อแต่ละชนิดแต่ละขนาด จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อนๆจะนำท่อ PVC มาดัดแปลงโดยการสวมมันเข้าด้วยกัน โปรดทดสอบขนาดของท่อที่จะนำมาสวมเข้าด้วยกัน ก่อนเลือกซื้อท่อนะครับ 


การทำงานกับท่อ PVC

  1. การตัด
    • กรรไกรตัดท่อPVC โดยเฉพาะ แต่กรรไกรตัดท่อจะสามารถตัดท่อได้ไม่ใหญ่มากนัก อาจจะได้ถึงแค่ท่อขนาด 1.5 นิ้ว (แล้วแต่กรรไกร)
    • เลื่อยสำหรับตัดท่อPVC หรือเลื่อยที่มีฟันเลื่อนที่ละเอียด ถ้าไม่มีเลื่อยตัดโดยเฉพาะคุณสามารถใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดได้ แต่จะได้รอยตัดที่ไม่เรียบร้อยนัก
  2. การดัด งอ และเปลี่ยนรูปร่างของท่อ
    ดัดด้วยความร้อน ด้วยปืนเป่าลมร้อน หรือแก็สกระป๋อง
  3. การติด
    หากต้องการให้ติดถาวรใช้ น้ำยาประสานท่อ (ต้องขอโทษด้วยที่ในคลิปผมเผลอเรียกว่ากาวอีกแล้ว มันติดปากจริงๆ) หรือถ้าต้องการให้สามารถถอดประกอบได้ ผมแนะนำให้ใช้สกรูครับ

จริงๆแล้วเรื่องของท่อ PVC และการนำท่อ PVC มาใช้นั้นยังมีอีกมากมายครับ นี่เป็นเพียงข้อมูลเล็กๆน้อยๆที่ผมได้รวบรวมเอาไว้เท่านั้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อยครับ

ถ้าเพื่อนๆอยากได้ไอเดียเกี่ยวกับการนำท่อPVC มาใช้ ผมก็มี Board ที่ได้รวบรวมรูปเอาไว้ (ในนี้จะมีรูปงานจากท่อเหล็กด้วยแต่ก็เอามาใช้กับท่อ PVC ได้เช่นกัน) เพื่อนๆสามารถคลิกดูได้ ที่นี่ เลยครับ

MAKER

Industrial Designer / Maker
The “Master Maker”

“เราเลือกได้เสมอ
ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
หรือเป็นส่วนหนึงของทางแก้”

Share this

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest

เนื้อหาอื่นๆ

Precious Plastic

Precious Plastic : โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่เท่ที่สุดในโลก

Movement ของเหล่า maker ที่พัฒนาเครื่องรีไซเคิลพลาสติกที่สามารถใช้ในบ้านหรือชุมชนได้ แจกแบบกันฟรีๆเพื่อให้สร้างประกอบใช้เอง

Read More »

แสดงความคิดเห็น