New Normal ของสายอาชีพ

Disruption ระยะเผาขน

การเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกอุตสากรรมเกิดขึ้นเราเห็นอยู่เรื่อย ๆในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องน่าคิดว่า ภาคการศึกษาควรผลิตคนแบบไหนที่จะพร้อมปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคดิจิตอล สำหรับการศึกษาสายอาชีพ หลาย ๆ คนกลัวการถูกทดแทนโดย Robot หรือ Automation แต่มีทักษะอีกมากมายที่จำเป็นใน Industry 4.0 ที่ Robot (ยัง)ทำไม่ได้

แอ้มอยากแนะนำหนังสือ The New Collar Workforce ให้เราเห็นภาพที่สร้างความหวังในตลาดแรงงาน มากกว่าความกลัว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Sarah Boisvert เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Protomac Photonics, Inc. ผู้ผลิตเครื่องเลเซอร์อุตสาหกรรมและ Fab Lab Hub ศูนย์ให้ความรู้ด้าน Digital fabrication สำหรับแรงงานภาคอุตสาหกรรม

ใจความสำคัญของหนังสือกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสายอาชีพที่เกิดขึ้นแบบระยะเผาขน การเข้ามาของ Robot, Automation, Data จำนวนมากจาก IoT และอีกหนึ่งส่วนงานที่คนจำนวนน้อยมากในประเทศเราได้สัมผัสในระดับอุตสาหกรรม นั่นคือ Digital fabrication (สร้างวัสดุจากเครื่องที่อ่าน Digital file) ทำให้เกิดช่องว่างในตลาดแรงงานที่ต้องการบุคคลากรที่มีทักษะใหม่ๆมาเติมเต็ม ทักษะเหล่านี้คืออะไรบ้าง และมันสำคัญต่อ Industry 4.0 อย่างไร?

อันดับ 1 ทักษะการแก้ปัญหา

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์โรงงานกว่า 200 แห่งทั่วอเมริกา ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงใหญ่ ทั้ง Startup ที่ผลิต Solution ให้โรงงาน ไปจนถึงบริษัท Fortune 10 และจากหลากหลายอุตสาหกรรมการผลิต พบว่ากว่า 90% บอกว่าทักษะอันดับหนึ่งที่เขาต้องการและยังขาดอยู่มากคือ ทักษะการแก้ปัญหา

ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการจ้างวิศวกรและซื้อเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่ายิ่งเครื่องมือสมัยใหม่เท่าไร แผนกซ่อมบำรุงเครื่องมือก็ยิ่งต้องเพิ่มขีดความสามารถตัวเองให้ทันด้วย เราไม่สามารถคาดหวังให้ช่างที่อยู่กับเครื่องมือเดิม ๆ 20 ปี ซ่อมเครื่องพิมพ์สามมิติได้ นี่เป็นจุดที่ทักษะการแก้ปัญหาจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง คนที่มีทักษะนี้จะสามารถเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ได้ หลายๆเครื่องมือที่กำเนิดโดยบริษัท Startup เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ธุรกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้านความเร็วและความยืดหยุ่น แต่ startup ไม่ใช่บริษัทใหญ่พอที่จะมีฝ่าย Customer support มาให้บริการซ่อมหรือสอนการทำงาน/บำรุงรักษา

บริษัทที่ซื้อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ต้องสามารถ Troubleshoot (แก้ไขปัญหาเบื้องต้น) ได้ด้วยตัวเองและเข้าใจการทำงาน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยน Setting ให้เข้ากับความต้องการของบริษัทตัวเองได้ (ว่างง่าย ๆ คือต้อง Customize เครื่องเป็นในระดับนึง) การจะทำหน้าที่นี้ได้ดี จำเป็นจะต้องอุทิศเวลาให้กับการลองถูกลองผิดกับเครื่องอย่างเต็มที่ เสมือนเป็นงานหลักของคน ๆ หนึ่งเลยทีเดียว

อันดับ 2 ทักษะ CAD Design

ทักษะการสร้าง CAD file เป็น Digital skill ของภาคออกแบบอุตสากรรมที่สำคัญและถือเป็นทักษะพื้นฐานที่ Smart factory ต้องมี เครื่องมือที่สร้างวัสดุได้อย่างเที่ยงตรง สามารถปรับแก้ต้นแบบได้เร็วและทำซ้ำได้เรื่อย ๆ เช่น CNC, Laser cut และ 3D printer ต่างก็ต้องใช้ Digital file ในการสั่งการทั้งนั้น แม้ทั้ง 3 เครื่องนี้จะเป็นพื้นฐานของ Digital Fabrication แต่ทั้ง 3 ก็ทำงานไม่เหมือนกัน การออกแบบงานเพื่อขึ้นรูปด้วย 3D printer ต่างจากแบบที่จะขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC แม้จะใช้ชุดความรู้คล้ายกัน (การทำงานของแกน XYZ) แต่รายละเอียดปลีกย่อยของการทำงานของเครื่องต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งน้อยคนที่จะมีความสามารถเชิงลึกทั้ง 3 เครื่อง แม้แต่ 3D printer เองยังแยกย่อยเป็นหลากหลาย Technology เช่นการพิมพ์แบบเรซิ่นต้องคำนึงถึงแรงดึงที่จะมีผลต่อรูปทรงและความสมมาตรของงาน ในขณะที่การพิมพ์แบบ FDM จะไม่มีปัญหานี้ แต่จะต้องระวังเรื่อง Finishing เช่นออกแบบอย่างไรให้ขึ้นรูปแล้วไม่ใช้ Support ในส่วนที่ต้องการให้ผิวเรียบ เป็นต้น

คนเรียนสายออกแบบและเข้าใจ Spatial visualization (ทักษะด้านมิติสัมพันธ์) จะเป็นทั้ง CAD Designer และ Operator (คนคุมเครื่อง) ด้วยก็ไม่แปลก แต่จริง ๆ แล้ว การใช้เครื่องให้มีประสิทธิภาพต้องการคนที่เข้าใจหลักกลศาสตร์ วัสดุศาสตร์และตัวแปรที่มีผลต่อวัสดุ ชอบทดลองและแก้ไขปัญหา จึงจะ Operate และ Optimize (ค้นหา Setting ที่เหมาะที่สุดกับงานที่ต้องการ Requirement ที่ต่างกัน) เครื่องได้ คนนี้อาจจะเป็นคนเดียวกันกับคนซ่อมบำรุงเครื่องด้วย การหาคนที่ทำงานออกแบบ สร้าง File ที่สามารถ Operate, Optimize และซ่อมบำรุงเครื่องได้ในคนๆเดียว เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ส่วนใหญ่โรงงานจะมี Designer และคนดูแลเครื่องทำงานคู่กัน

อันดับ 3 ทักษะ Data Analytics

Data จำนวนมากจาก IoT และ Sensor ต่าง ๆ ต้องการการวิเคราะห์ ทักษะการวิเคราะห์ Big data จึงเป็นที่ต้องการอันดับสาม วิศวกรรมอุตสาหกร Data scientist หรือ ทีมวางแผนกำลังการผลิต จะต้องใช้ Software ในการเรียกและวิเคราะห์ Data มาทำ Simulation เพื่อให้เกิดความ Lean ในกระบวนการผลิต ลด Downtime ของเครื่องจักรด้วย Predictive maintenance (การบำรุงรักษาพยากรณ์) และปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ตลาดได้ด้วยการเชื่อมโยงกับระบบ Business Intelligence ของบริษัท กระบวนการนี้อาจจะดูเหมือนเป็นหน้าที่ของบุคคลากรระดับบริหาร แต่ด้วยข้อมูลที่เยอะมากและเข้ามาทุก ๆ วัน โรงงานต้องการคนที่อยู่ใกล้ข้อมูล เข้าใจว่าข้อมูลไหนเอาไปใช้ได้/ไม่ได้ มีอะไรเกิดขึ้นหน้างานจึงทำให้ข้อมูลออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาการทำงานร่วมกันหลาย ๆ ฝ่ายเพื่อ ตรวจสอบข้อมูล ต้องใช้ทักษะการสื่อสารประกอบกันด้วย ซึ่งเป็นงานที่ยังไม่สามารถ Automate ได้

ทักษะแบบนี้ฝึกได้ที่ไหน?

จากข้อมูลเหล่านี้ Sarah (ผู้เขียน) เห็นว่าเครื่องมือ ความรู้และเทคนิคที่ผู้ประกอบการมองหาไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ FabLab หรือ Maker space มี (เว้นแต่จำพวก Software) ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา การคิดและลงมือทำเพื่อหาคำตอบ การใช้ ดูแลและซ่อมเครื่องมือใหม่ ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือ Digital fab ที่ต้องใช้ CAD file ในการสร้างและตอบโจทย์บางอย่าง ใน FabLab โปรเจ็คที่ได้รับหรือการสร้างอะไรบางอย่างถือเป็นโจทย์(ที่เราต้องแก้) การเรียนรู้ใน Fablab จึงถือเป็น Problem-based learning อย่างแท้จริง Fab Lab Hub และ FabLab อีกหลายแห่ง จัดให้มีการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฏีและปฎิบัติโดยผู้สำเร็จจะได้รับ Digital badges ที่มีการบันทึกรายละเอียดของโปรเจ็คที่ทำ วิธีการแก้ไขปัญหา เครื่องมือที่ใช้ กระบวนการ ผลงานและรูปภาพต่าง ๆ ซึ่งถือเป็น Digital portfolio ของตัวเองที่ผู้จ้างสามารถใช้ในการประเมิณและคัดเลือกได้ทันที สิ่งที่จะเห็นในอนาคตคือ Platform ที่ผู้ประกอบการจะสามารถเข้ามา Shop talent สำหรับ Smart factory ของตัวเองได้

บริบทของประเทศไทย

ในความคิดเห็นของแอ้ม การเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศเราแบ่งออกเป็น 2 สาย คือสายสามัญที่เน้นทฤษฎี ส่วนใหญ่จบไปทำงานที่ไม่ได้เน้นการใช้มือสร้าง/ซ่อม (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า White collar) และสายอาชีพที่แก่นของการศึกษาอยู่ที่การได้ลงมือปฏิบัติจริง ส่วนใหญ่จบไปทำงานที่เน้นการใช้มือสร้าง/ซ่อม ฝึกทักษะเฉพาะด้าน พัฒนาความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ (แม้เรียนแค่ 2 ปี ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าสายสามัญที่เรียน 4 ปีเนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้ออุปกรณ์และ Workshop แต่พร้อมทำงานเร็วกว่าสายสามัญ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Blue collar)

ในยุคแห่ง Digital Disruption

วิธีการเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ เราจะเรียนทฤษฎี 4 ปีกว่าจะได้ลงมือทำ เมื่อเราเข้าสู่ตลาดแรงงาน เทคโนโลยีก็พัฒนาไปไกลจนสิ่งที่เราเรียนอาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้ว และถ้าเราไม่ได้ลงมือ Apply ความรู้เลย เราอาจจะไม่เข้าใจในหลักการอย่างลึกซึ้ง และ ไม่สามารถ Apply หลักการและความรู้กับโลกที่เปลี่ยนไปได้ ในทางกลับกัน สายอาชีพเรียนลงมือทำ 2 ปีโดยเน้นความเชี่ยวชาญในเทคนิคใดเทคนิคเดียว เราคงจะตามไม่ทันเพราะไม่ได้โอกาสฝึกทักษะการแก้ปัญหาแบบข้ามเทคโนโลยี สายใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตอนนี้คือความสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองเท่านั้น หรือเรียกว่าสาย YouTube หรือ E-learning ขวนขวายเอาเอง ทำ Portfolio promote ตัวเอง ที่ยากคือคลังความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่แบบนี้ ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย (กว่าจะแปลเสร็จ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแล้ว)

มันยากมากสำหรับคนไม่เก่งภาษาอังกฤษที่จะสามารถเข้าถึงความรู้พวกนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการฝึกฝน ทดลอง เช่น 3D printer, CNC, Robot และเลเซอร์ที่ราคาไม่ถูก (MakerStation อยากสร้าง course มาก ณ จุดนี้)

วิธีเดียวที่จะเป็นไปได้คือการเรียนผ่าน On the job training ที่หลายๆบริษัทจัดขึ้นเองเพื่อสอนงานให้พนักงานเข้าใหม่ หรือสมัครเข้าไปฝึกงานกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่เราสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ได้ทักษะที่ตรงและใช้ได้จริงที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นฝึกตัวเองให้แก้ปัญหาด้านเทคนิคด้วยตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล Online (จะสังเกตุเห็นได้ว่าปัญหาเราที่เราพบ มักจะเป็นปัญหาที่คนอื่นเคยพบมาแล้ว และได้ทางแก้แล้ว) ฝึกคิดก่อนลงมือทำ คิดทบทวนหลักการการทำงานของเครื่อง ประยุกต์ทฤษฎีกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ทดลองและจดบันทึกการทดลองเพื่อตอบสมมุติฐานของตัวเอง หาคนที่เก่งกว่าไว้ปรึกษา (ไม่ใช่ถามทุกเรื่อง ปรึกษาเมื่อติดขัดจริงๆหล้งจากพยายามแล้ว)

หาทางใหม่ๆ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สุดท้ายนี้ ขอกลับไปอ้างอิงสารสำคัญในหนังสือ ผู้เขียนเห็นว่า Middle Skill (ทักษะระดับกลาง) จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในโรงงานยุคใหม่ ซึ่งรวมถึงการเรียนสายอาชีพ 2 ปี คอร์สพิเศษ ฝึกงาน หรือ Training ทีได้ลงมือทำจริง ๆ ซึ่งเพียงพอต่อการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีในสายสามัญภาควิชาวิศวกรรม ในฐานะคนทำงานใน FabLab เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า หลาย ๆ ทักษะสมัยนี้หาเรียนไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ กว่าจะอนุมติหลักสุตรผ่าน เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่แล้ว Software เครื่อง 3D print บางตัว Update รายสัปดาห์ ทุก ๆ ความพยายามในการเข้าใจการทำงานของเครื่องใน FabLab มาจากการเรียนรู้ผ่าน YouTube, Online forum, Blog และคู่มือที่มากับเครื่อง รวมไปถึงการบำรุงรักษาและการซ่อม/แก้ปัญหาเบื้องต้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เป็น New normal ของสายอาชีพในประเทศฝั่งยุโรปมานานแล้ว จำไว้เสมอว่า เมื่อโรงงานมี Robot มาทดแทนแรงงานมนุษย์ ทักษะที่โรงงานนั้นจะต้องหาร่วมด้วยคือ การออกแบบ การเขียนโปรแกรมเพื่อ Operate และการบำรุงรักษาหุ่นยนต์ ทักษะเหล่านี้ยังต้องการมนุษย์อย่างเราอยู่และต้องการการเติมเต็มอีกมาก

ใครที่ชอบหนังสือหรือเนื้อหาประมาณนี้ แชร์ความคิดเห็นกันมาได้เลยนะค่ะ รอ Update ใหม่ ๆ เกี่ยวกับ Digital fabrication งาน Make และ Review หนังสือ Maker ดี ๆ แบบนี้ ได้ทาง MakerStation ค่ะ

Amm

Partnership & Community
Support The “Back Bone”

“งานและชีวิตมีเป้าหมายเดียวกัน
คือการสร้าง impact ที่ดีให้กับโลก
และเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน”

Share this

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest

เนื้อหาอื่นๆ

Precious Plastic

Precious Plastic : โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่เท่ที่สุดในโลก

Movement ของเหล่า maker ที่พัฒนาเครื่องรีไซเคิลพลาสติกที่สามารถใช้ในบ้านหรือชุมชนได้ แจกแบบกันฟรีๆเพื่อให้สร้างประกอบใช้เอง

Read More »

แสดงความคิดเห็น