Custom Junction Box แก้ปัญหาเดินเตะปลั๊กหลุดฉบับ Maker

แก้ปัญหาเดินเตะปลั๊กหลุดฉบับ Maker

ก่อนที่จะไปดูขั้นตอนการทำขอเล่าให้ฟังก่อนว่าที่ MakerStaion มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติอยู่หลายเครื่องทำให้มีปลั๊กไฟจำนวณมากเชื่อมต่อกับปลั๊กพ่วงอันเดียวกันทำให้ดูไม่เรียบร้อย ซึ่งการที่มีสายไฟวางอยู่บนพื้นอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อคนที่เดินผ่านได้ และหลายครั้งเวลาเดินไปดูที่หน้าเครื่องก็เผลอไปเตะปลั๊กไฟทำให้สวิตซ์ปิดแล้วเครื่องดับขณะที่กำลังปริ้นอยู่ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีที่เราใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติรุ่น Original Prusa I3 MK3s ที่สามารถบันทึกการทำงานก่อนเครื่องดับได้ ทำให้สามารถเปิดสวิตซ์แล้วสั่งปริ้นต่อจากเดิมได้เลย อันนี้แนะนำเลยเพราะทำให้ชีวิตดีขึ้นเยอะ ไม่ต้องเสียเวลาปริ้นใหม่ บทความนี้จะมาเล่าวิธีแก้ปัญหาเดินเตะปลั๊กหลุดฉบับ Maker กันครับ

จากรูปเป็นปลั๊กไฟที่ใช้อยู่ จะเห็นได้ว่ามีสายไฟเยอะมากมาต่อพ่วงเข้ากับปลั๊กนี้ ดูไม่สวยงามเอาซะเลย อีกหนึ่งปัญหาคือเรามีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้บ่อย ๆ อยู่ 5 เครื่อง แต่ปลั๊กนี้เสียบได้ทีละ 4 เครื่อง ซึ่งถ้าจะใช้ทั้งหมดพร้อม ๆ กันก็ต้องต่อปลั๊กไฟมาอีกหนึ่งอัน คิดดูแล้วกันว่าสายไฟจะเยอะขนาดไหน

ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่มีปัญหาคล้ายกันนี้เราขอเสนอทางออกแบบชาว Maker หลักการง่าย ๆ คือใช้ของที่เรามีอยู่แล้วในการแก้ปัญหา ข้อได้เปรียบของที่ MakerStation คือเรามีเครื่องมือในการขึ้นรูปและวัสดุที่หลากหลาย ทำให้ข้อจำกัดในการออกแบบน้อยมาก ในครั้งนี้เราจึงเลือกการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติบางชิ้นส่วน และใช้ Laser cutter ในการทำกล่องเพราะเป็นวิธีการขึ้นรูปที่ง่าย รวดเร็ว และสวยงาม

เนื่องจากกล่องไฟที่จะทำต้องเอาไปติดตั้งกับชั้นวางของ IKEA BROR ที่มีร่องสำหรับการประกอบที่ง่าย เราจึงออกแบบชึ้นส่วนที่จะเอาไปเสียบกับร่องนี้ได้เลย เพื่อให้ง่ายต่อการติดตั้ง โดยใช้การขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หลังออกแบบเสร็จก็ปริ้นออกมาทดสอบดูว่าจะเสียบเข้ากับร่องได้พอดีไหม ผลที่ได้คือไม่ได้เลยเพราะในการออกแบบเผื่อระยะของร่องเสียบน้อยมาก จึงทำการตัดแต่งให้สามารถเสียบเข้าร่องได้และออกแบบใหม่ตามชิ้นที่ผ่านการตัดแต่งและสามารถเสียบได้แล้ว ทำให้ได้ออกมาเป็นชิ้นส่วนสำหรับยึดตัวกล่องให้ติดกับชั้นวางของที่สามารถติดตั้งได้โดยง่าย

ขั้นตอนต่อมาคือออกแบบตัวกล่องที่จะขึ้นรูปด้วย Laser cutter วัสดุที่ใช้คืออะคริลิคใส เพราะมีเศษเหลือจากการใช้งานอยู่แล้ว ทำให้เป็นอีกขั้นตอนที่สนุกคือ หาอะคริลิคแผ่นที่มีพื้นที่เพียงพอต่อชิ้นงานที่จะใช้ เมื่อได้แผ่นอะคริลิคแล้วก็เอามาวางใน Workspace ของเครื่อง ตั้งค่าไฟล์ที่จะตัด อัพโหลดไฟล์แบบลงบนเครื่องและทำการตัดชิ้นงานตามลำดับ

เมื่อได้ชิ้นงานที่ตัดครบทุกชิ้นแล้วก็ทำการต๊าปเกลียวสำหรับยึดสกรู ประกอบชิ้นส่วนที่จะให้ติดกันด้วยเมทิลีนคลอไรด์ ส่วนด้านที่เหลือจะใช้สกรูในการยึดติดเพื่อให้สามารถถอดจากกันได้ในภายหลัง

ขั้นตอนต่อไปคือการต่อสายไฟโดยให้ 1 กล่องไฟมีสายไฟเข้า 1 เส้นและแยกออกเป็น 3 เส้น เพื่อจ่ายไฟให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติจำนวน 2 เครื่องและอีก 1 สายจ่ายไฟให้อีกชั้นข้าง ๆ เพราะเราทำกล่องนี้จำนวน 2 ชุด

เมื่อประกอบทุกอย่างเสร็จแล้วเราก็ไม่ลืมที่จะตรวจสอบความถูกต้องของวงจร หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นวงจรง่าย ๆ แค่ต่อสายไฟจะเสียเวลาเช็คทำไม แต่เราคิดว่าถ้ามันเกิดผิดพลาดขึ้นมาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นมันเยอะมาก เพราะฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้นะครับทุกคน

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วคือการติดตั้งกล่องไฟเข้ากับชั้นวางของ IKEA BROR ซึ่งมันง่ายมาก ๆ แค่เพียง Slide เข้าไปกับร่องของชั้นที่มีอยู่แล้ว แต่ความยากคือไม่สามารถไขสกรูได้เพราะด้านข้างของชั้นวางเป็นพื้นที่แคบ ๆ ที่ไขควงไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตเราในครั้งนี้คือเจ้าสว่านไร้สาย Cordless drill CXS จากทาง Festool ที่สามารถเปลี่ยนหัวได้หลายรูปแบบตามการใช้งาน ในกรณีนี้ใช้ข้อต่อเข้ามุมทำให้สามารถไขสกรูในพื้นที่แคบมาก ๆ ได้

ในที่สุดเราก็สามารถลดปริมาณสายไฟที่มาเสียบกับปลั๊กพ่วงได้ทำให้ไม่มีสายไฟกองอยู่บนพื้น

Processed with VSCO with a6 preset

แต่สุดท้ายแล้วปัญหาเตะปลั๊กแล้วไฟดับก็ยังอยู่ เพราะปลั๊กไฟยังอยู่ที่เดิมถึงแม้เครื่องพิมพ์เราจะดีแค่ไหนก็เถอะ มันก็ยังเป็นปัญหาที่น่ารำคาญใจอยู่ดี ไหน ๆ จะแก้ปัญหาแล้วก็ต้องแก้ให้สุด เราจึงต่อสายไฟไปยังชั้นวางของข้าง ๆ แล้วทำกล่องไฟคล้าย ๆ เดิมติดไว้เพื่อที่อนาคตถ้ามีเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาวางเพิ่มจะได้ต่อไฟจากกล่องนี้ได้เลย สุดท้ายทั้ง 3 ชั้นวางของนี้ก็จะมีสายไฟต่อไปที่ปลั๊กไฟที่ผนังแค่เส้นเดียว

ถือว่าภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และนี่แหละคือความสุขของ Maker ที่ได้พัฒนาแก้ไขสิ่งต่างด้วยตัวเองและสิ่งที่มีอยู่

MAKER

Mil

Robotics Engineer well, The “Robotics Engineer” is cool enough

“ถ้าโลกนี้เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่เราคงไม่ใช่อะไหล่สำรอง”

Share this

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest

เนื้อหาอื่นๆ

Precious Plastic

Precious Plastic : โครงการรีไซเคิลพลาสติกที่เท่ที่สุดในโลก

Movement ของเหล่า maker ที่พัฒนาเครื่องรีไซเคิลพลาสติกที่สามารถใช้ในบ้านหรือชุมชนได้ แจกแบบกันฟรีๆเพื่อให้สร้างประกอบใช้เอง

Read More »

แสดงความคิดเห็น